วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ลักษณะของครูที่ดี

10.  ลักษณะของครูที่ดี
                สังคมคาดหวังว่า ครู คือ แบบอย่างที่ดีของศิษย์ เป็นผู้สร้างสมาชิกใหม่ของสังคมให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพแก่สังคม ธรรมชาติของอาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องสัมผัสกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ ฉะนั้นผู้ดำเนินอาชีพครูจึงจะต้องเป็นผู้ไฝ่รู้ไฝ่เรียนและไฝ่พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิชาการ ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ และครูยังต้องประพฤติปฎิบัติตนให้เหมาะสมกับธรรมชาติของอาชีพ การที่จะได้ชื่อว่าเป็นครูที่ดีนั้น จึงต้องเป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะบางประการที่แตกต่างจากผู้ประกอบวิชาชีพอื่น การกำหนดลักษณะของครูซึ่งล้วนแต่มีคุณค่าในการทำความเข้าใจและใช้เป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาลักษณะที่ดีพึงประสงค์

      10.1 ลักษณะของครูที่ดีจากการศึกษาวิเคราะห์ประวัติครูดีเด่น
    ธีรพงศ์ แก่นอินทร์   นิราศ  จันทรกิจ  และสมคิด  ธนะเรืองสกุลไทย (2529:86-102) ได้ศึกษาคุณลักษณะของครูโดยการศึกษาวิเคราะห์ประวัติครูดีเด่นจากหนังสือประวัติครูจำนวน24คน พบว่า คุณลักษณะของครูที่ได้ศึกษาและวิเคราะห์มาได้พบว่าคุณลักษณะเด่นของครูที่ดีอันพึงมีประจำใจ มีดังต่อไปนี้
   1)  มีความตั้งใจทำงานอย่างจริงจังด้วยความรัก ละรับผิดชอบ
 2)  มีความขยันขันแข็ง
 3)  มีความเสียสละ
 4)  เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน
 5)  อุทิศเวลาให้แก่งานราชการ
 6 มีกิริยามารยาทเรียบร้อย
 7)  มีความเมตตากรุณา มีความซื่อสัตย์สุจริต
 8)  มีอารมณ์แจ่มใสร่าเริง มีอัธยาศัยดี มนุษยสัมพันธ์ที่ดี เป็นผู้ที่ชื่นชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีความรักศิษย์ห่วงใยเอาใจใส่ต่อศิษย์ ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์โดยไม่ปิดบังอำพราง
 9)  มีจิตใจโอบอ้อมอารี ประกอบแต่กรรมดี วางตนอยู่ในศีลธรรม เป็นคนที่เฉลียวฉลาด เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม
 10)  เป็นคนไม่ถือตัว มีความมักน้อย มีจิตใจแน่วแน่มั่นคง มีความกล้าหาญ
 11)   มีความคิดกว้างไกล มีความสุขุมรอบคอบ มีความกตัญญู มีความยุติธรรมแก่ทุกคน
 12)  ทำงานโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีความมัธยัสถ์เป็นคนที่ตรงต่อเวลา
 13)  ให้เกียรติยกย่องผู้อื่น มีน้ำใจนักกีฬา มีความเลื่อมใสในศาสนาอย่างแท้จริง
 14)  มีความเป็นผู้นำ มีขันติ รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีระเบียบวินัย
       10.2  ลักษณะของครูที่ดีตามเกณฑ์มาตรฐานของคุรุสภา
 คณะอนุกรรมการส่งเสริมวิชาชีพครูของคุรุสภา(2534:9-51) ได้ศึกษาเกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานในการ ปฏิบัติตนของครู ซึ่งใช่บ่งชี้ลักษณะที่ดีของครู และได้สรุปว่าครูควรมีคุณลักษณะ 4 ประการ ดังนี้
1)  รอบรู้ คือ ครูจะต้องมีความรอบรู้ในวิชาชีพของตน เช่น ปรัชญาการศึกษา ประวัติการศึกษา หลักการศึกษา นโยบายการศึกษา แผนและโครงการพัฒนาการศึกษาและจะต้องมีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องหลักสูตร วิธีสอนและวิธีประเมินผลการศึกษา ในวิชาหรือกิจการที่ตนรับผิดชอบ นอกจากนี้ ครูควรมีความรู้เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแลงและพัฒนาการต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลก
2)  สอนดี คือ ครูจะต้องทำการสอนอย่างมีประสิทธิภาพมีการพัฒนาการสอนให้สอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของนักเรียน อีกทั้งสามารถให้บริการและแนะแนวในด้านการเรียน การครองตนและการรักษาสุขภาพอนามัย จัดทำและใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน
3)  มีคุณธรรมและจรรยาบรรณ คือ ครูต้องมีศรัทธาในวิชาชีพครู ตั้งใจใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพเพื่อให้บริการแก่เด็กนักเรียนและสังคมมีความซื่อสัตย์ต่อหลักการอาชีพครู มีความรับผิดชอบในด้านการศึกษาต่อสังคม ชุมชนและนักเรียน มีความรักความเมตตา ปรารถนาที่ดีต่อนักเรียน อุทิศตนและเวลาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับความเจริญเติบโตและพัฒนาการในทุกด้าน
4)  มุ่งมั่นพัฒนา คือ ครูจะต้องรู้จักสำรวจและปรับปรุงตนเอง สนใจใฝ่รู้และศึกษาหาความรู้ต่างๆ รู้จักเพิ่มพูนวิทยฐานะของตนเอง พยายามคิดทดลองวิธีการสอนใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน และร่วมพัฒนาชุมชนด้วย

       10.3  คุณลักษณะของครูที่ดี 10 ประการ 
     1)  ความมีระเบียบวินัย หมายถึง ความประพฤติ ทั้งทางกายและวาจาและใจ ที่แสดงถึงความเคารพในกฎหมาย ระเบียบประเพณีของสังคม และความประพฤติที่สอดคล้องกับอุดมคติหรือความหวังของตนเอง โดยให้ยึดส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตัว 
    2)  ความซื่อสัตย์สุจริตและความยุติธรรม หมายถึง การประพฤติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เอาเปรียบ หรือคดโกงผู้อื่นหรือส่วนรวม ให้ยึดถือหลักเหตุผล ระเบียบแบบแผนและกฎหมายของสังคมเป็นเกณฑ์ 
   3)  ความขยัน ประหยัด และยึดมั่นในสัมมาอาชีพ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่ทำให้เสียเวลาชีวิตและปฏิบัติกิจอันควรกระทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม 
 4)  ความสำนึกในหน้าที่และการงานต่าง ๆ รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมและไม่ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่สังคม 
5)  ความเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม วิจารณ์และตัดสินอย่างมีเหตุผล หมายถึง ความประพฤติในลักษณะสร้างสรรค์และปรับปรุงมีเหตุมีผลในการทำหน้าที่การงาน 
6)  ความกระตือรือร้นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความรักและเทิดทูน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หมายถึง ความประพฤติที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือ ในการอยู่ร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของสังคมให้มากที่สุด 
7)  ความเป็นผู้มีพลานามัยที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หมายถึง ความมั่นคงและจิตใจ รู้จักบำรุงรักษากายและจิตใจให้สมบูรณ์ มีอารมณ์แจ่มใสมีธรรมะอยู่ในจิตใจอย่างมั่นคง 
8)  ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและมีอุดมคติเป็นที่พึ่ง ไม่ไว้วานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยไม่จำเป็น
9)  ความภาคภูมิและการรู้จักทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และทรัพยากรของชาติ หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมแบบไทย ๆ มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมของตนเองและทรัพยากรของชาติ 
10)  ความเสียสละ และเมตตาอารี กตัญญูกตเวที กล้าหาญ และความสามัคคีกัน หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกถึงความแบ่งปัน เกื้อกูลผู้อื่น ในเรื่องของเวลากำลังกายและกำลังทรัพย์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Comments system

Disqus Shortname