วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กล่าวโดยสรุป

กล่าวโดยสรุป

                บุคลิกภาพ คือ ลักษณะภายนอกและภายใน อันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคลซึ่งมีพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวแปรสำคัญ แต่บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่สามารถสำรวจและสังเกตได้จึงสามารถปรับปรุง ส่งเสริม และพัฒนาให้เป็นบุคลิกภาพที่ดีได้ ครูจำเป็นต้องมีบุคลิกภาพที่ดีและเหมาะสมกับการเป็นครู เพราะครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ทั้งยังต้องเป็นผู้พัฒนาศิษย์ให้มีบุคลิกภาพที่ดีและเหมาะสมตามที่สังคมปรารถนาอีกด้วย การที่ศิษย์จะออกไปสู่สังคมและดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขนั้น ต้องเป้นคนที่มีบุคลิกภาพเหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตาม สัปปุริธรรม 7 เป็นธรรมที่ครูสามารถใช้เป็นเครื่องช่วยพัฒนาทั้งในการพัฒนาบุคลิกภาพของครูและสร้างเสริมค่านิยมในวิชาชีพครูได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับครูแต่ละคนว่ามีปัญญาและมีความพากเพียรเพียงใด

                สังคมคาดหวังว่าการศึกษาจะเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สมาชิกใหม่ เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทางสังคม ตลอดจนเป็นเครื่องมือเยียวยาความพกพร่องในสังคมได้ ความคาดหวังดังกล่าวนั้นย่อมอาศัยปัจจัยสำคัญ คือ ตัวครู บุคคลผู้เป็นครูนั่นเอง คุณลักษณะที่ดีของผู้เป็นครูนี้ มิได้ หมายถึงเพียงรูปร่างหน้าตา หรือน้ำเสียง แต่หมายรวมถึงคุณลักษณะโดยรวมของครูทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาของผู้ที่เป็นครูที่บูรณาการแล้ว แสดงออกให้ผู้คนรอบข้างรับรู้หรือรู้สึกได้ ซึ่งจากแนวคิดที่หลากหลายในประเด็นนี้ ครูที่มีลักษณะดีอาจกล่าวรวมๆ ได้ว่า ต้องเป็นผู้ที่มีภูมิรู้ดี ภูมิธรรมดี และภูมิฐานดีนั่นเอง คุณลักษณะที่ดีทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าว เป็นคุณสมบัติที่สามารถเรียนรู้ ฝึกฝน สั่งสม และถ่ายทอดได้จากครูถึงครู จากครูถึงศิษย์ จากครูถึงสื่อมวลชนรอบตัวครู ทัศนะบุคคลในกลุ่มอาชีพต่างๆ

ลักษณะของครูที่ดี

10.  ลักษณะของครูที่ดี
                สังคมคาดหวังว่า ครู คือ แบบอย่างที่ดีของศิษย์ เป็นผู้สร้างสมาชิกใหม่ของสังคมให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพแก่สังคม ธรรมชาติของอาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องสัมผัสกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ ฉะนั้นผู้ดำเนินอาชีพครูจึงจะต้องเป็นผู้ไฝ่รู้ไฝ่เรียนและไฝ่พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิชาการ ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ และครูยังต้องประพฤติปฎิบัติตนให้เหมาะสมกับธรรมชาติของอาชีพ การที่จะได้ชื่อว่าเป็นครูที่ดีนั้น จึงต้องเป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะบางประการที่แตกต่างจากผู้ประกอบวิชาชีพอื่น การกำหนดลักษณะของครูซึ่งล้วนแต่มีคุณค่าในการทำความเข้าใจและใช้เป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาลักษณะที่ดีพึงประสงค์

      10.1 ลักษณะของครูที่ดีจากการศึกษาวิเคราะห์ประวัติครูดีเด่น
    ธีรพงศ์ แก่นอินทร์   นิราศ  จันทรกิจ  และสมคิด  ธนะเรืองสกุลไทย (2529:86-102) ได้ศึกษาคุณลักษณะของครูโดยการศึกษาวิเคราะห์ประวัติครูดีเด่นจากหนังสือประวัติครูจำนวน24คน พบว่า คุณลักษณะของครูที่ได้ศึกษาและวิเคราะห์มาได้พบว่าคุณลักษณะเด่นของครูที่ดีอันพึงมีประจำใจ มีดังต่อไปนี้
   1)  มีความตั้งใจทำงานอย่างจริงจังด้วยความรัก ละรับผิดชอบ
 2)  มีความขยันขันแข็ง
 3)  มีความเสียสละ
 4)  เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน
 5)  อุทิศเวลาให้แก่งานราชการ
 6 มีกิริยามารยาทเรียบร้อย
 7)  มีความเมตตากรุณา มีความซื่อสัตย์สุจริต
 8)  มีอารมณ์แจ่มใสร่าเริง มีอัธยาศัยดี มนุษยสัมพันธ์ที่ดี เป็นผู้ที่ชื่นชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีความรักศิษย์ห่วงใยเอาใจใส่ต่อศิษย์ ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์โดยไม่ปิดบังอำพราง
 9)  มีจิตใจโอบอ้อมอารี ประกอบแต่กรรมดี วางตนอยู่ในศีลธรรม เป็นคนที่เฉลียวฉลาด เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม
 10)  เป็นคนไม่ถือตัว มีความมักน้อย มีจิตใจแน่วแน่มั่นคง มีความกล้าหาญ
 11)   มีความคิดกว้างไกล มีความสุขุมรอบคอบ มีความกตัญญู มีความยุติธรรมแก่ทุกคน
 12)  ทำงานโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีความมัธยัสถ์เป็นคนที่ตรงต่อเวลา
 13)  ให้เกียรติยกย่องผู้อื่น มีน้ำใจนักกีฬา มีความเลื่อมใสในศาสนาอย่างแท้จริง
 14)  มีความเป็นผู้นำ มีขันติ รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีระเบียบวินัย
       10.2  ลักษณะของครูที่ดีตามเกณฑ์มาตรฐานของคุรุสภา
 คณะอนุกรรมการส่งเสริมวิชาชีพครูของคุรุสภา(2534:9-51) ได้ศึกษาเกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานในการ ปฏิบัติตนของครู ซึ่งใช่บ่งชี้ลักษณะที่ดีของครู และได้สรุปว่าครูควรมีคุณลักษณะ 4 ประการ ดังนี้
1)  รอบรู้ คือ ครูจะต้องมีความรอบรู้ในวิชาชีพของตน เช่น ปรัชญาการศึกษา ประวัติการศึกษา หลักการศึกษา นโยบายการศึกษา แผนและโครงการพัฒนาการศึกษาและจะต้องมีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องหลักสูตร วิธีสอนและวิธีประเมินผลการศึกษา ในวิชาหรือกิจการที่ตนรับผิดชอบ นอกจากนี้ ครูควรมีความรู้เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแลงและพัฒนาการต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลก
2)  สอนดี คือ ครูจะต้องทำการสอนอย่างมีประสิทธิภาพมีการพัฒนาการสอนให้สอดคล้องกับความสามารถและความสนใจของนักเรียน อีกทั้งสามารถให้บริการและแนะแนวในด้านการเรียน การครองตนและการรักษาสุขภาพอนามัย จัดทำและใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน
3)  มีคุณธรรมและจรรยาบรรณ คือ ครูต้องมีศรัทธาในวิชาชีพครู ตั้งใจใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพเพื่อให้บริการแก่เด็กนักเรียนและสังคมมีความซื่อสัตย์ต่อหลักการอาชีพครู มีความรับผิดชอบในด้านการศึกษาต่อสังคม ชุมชนและนักเรียน มีความรักความเมตตา ปรารถนาที่ดีต่อนักเรียน อุทิศตนและเวลาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับความเจริญเติบโตและพัฒนาการในทุกด้าน
4)  มุ่งมั่นพัฒนา คือ ครูจะต้องรู้จักสำรวจและปรับปรุงตนเอง สนใจใฝ่รู้และศึกษาหาความรู้ต่างๆ รู้จักเพิ่มพูนวิทยฐานะของตนเอง พยายามคิดทดลองวิธีการสอนใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน และร่วมพัฒนาชุมชนด้วย

       10.3  คุณลักษณะของครูที่ดี 10 ประการ 
     1)  ความมีระเบียบวินัย หมายถึง ความประพฤติ ทั้งทางกายและวาจาและใจ ที่แสดงถึงความเคารพในกฎหมาย ระเบียบประเพณีของสังคม และความประพฤติที่สอดคล้องกับอุดมคติหรือความหวังของตนเอง โดยให้ยึดส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตัว 
    2)  ความซื่อสัตย์สุจริตและความยุติธรรม หมายถึง การประพฤติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เอาเปรียบ หรือคดโกงผู้อื่นหรือส่วนรวม ให้ยึดถือหลักเหตุผล ระเบียบแบบแผนและกฎหมายของสังคมเป็นเกณฑ์ 
   3)  ความขยัน ประหยัด และยึดมั่นในสัมมาอาชีพ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่ทำให้เสียเวลาชีวิตและปฏิบัติกิจอันควรกระทำให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคม 
 4)  ความสำนึกในหน้าที่และการงานต่าง ๆ รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมและไม่ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่สังคม 
5)  ความเป็นผู้มีความคิดริเริ่ม วิจารณ์และตัดสินอย่างมีเหตุผล หมายถึง ความประพฤติในลักษณะสร้างสรรค์และปรับปรุงมีเหตุมีผลในการทำหน้าที่การงาน 
6)  ความกระตือรือร้นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความรักและเทิดทูน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หมายถึง ความประพฤติที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือ ในการอยู่ร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของสังคมให้มากที่สุด 
7)  ความเป็นผู้มีพลานามัยที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หมายถึง ความมั่นคงและจิตใจ รู้จักบำรุงรักษากายและจิตใจให้สมบูรณ์ มีอารมณ์แจ่มใสมีธรรมะอยู่ในจิตใจอย่างมั่นคง 
8)  ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและมีอุดมคติเป็นที่พึ่ง ไม่ไว้วานหรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยไม่จำเป็น
9)  ความภาคภูมิและการรู้จักทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และทรัพยากรของชาติ หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมแบบไทย ๆ มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมของตนเองและทรัพยากรของชาติ 
10)  ความเสียสละ และเมตตาอารี กตัญญูกตเวที กล้าหาญ และความสามัคคีกัน หมายถึง ความประพฤติที่แสดงออกถึงความแบ่งปัน เกื้อกูลผู้อื่น ในเรื่องของเวลากำลังกายและกำลังทรัพย์ 

บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของครูไทย

9.  บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของครูไทย
                บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของครูไทยนั้นอาจใช้ลักษณะของสัตบุรุษ 7 ประการ เป็นต้นแบบ (Model)ก็ได้ กล่าวคือ ครูผู้มีลักษณะดี 7 ประการ ย่อมเป็นครูที่มีบุคลิกภาพดีนั่นเอง สำหรับการพัฒนาบุคลิกภาพของครูนั้นมีจุดประสงค์ที่สำคัญคือ ให้ครูมีบุคลิกภาพที่ดีเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์และชุมชน ลักษณะสัตบุรุษ ได้แก่
1)  ธัมมัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ ความรู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนี้ เช่น รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือพบผลแล้วรู้ชัดว่า ผลนั้นเกิดมาจากเหตุ ผลดีย่อมมาจากเหตุดี ผลชั่วย่อมมาจากเหตุชั่ว อย่างนี้เรียกว่า ธัมมัญญุตา
2)  อัตถัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักผล คือ ความรู้ชัดว่า สิ่งนี้เป็นผลของสิ่งนี้ เช่น รู้ว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้ หรือพบเหตุแล้วรู้จักคาดผลได้ว่า เหตุนั้นจะต้องได้ผลอย่างนี้แน่นนอน เหตุดีย่อมได้ผลดี เหตุชั่วย่อมได้ผลชั่ว อย่างนี้เรียกว่าอัตถัญญุตา
3)  อัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักตน คือ ความรู้ชัดว่า ตนเองมีฐานะเป็นอย่างไร แล้วประพฤติตนให้เหมาะสมกับภาวะและฐานะของตน
4)  มัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี รู้จักประมาณในการแสวงหาและใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงชีพ
5)  กาลัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักกาล คือรู้จักเวลาอันเหมาะสมแก่การประกอบกิจและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการประกอบกิจ การตรงต่อเวลา มาปฏิบัติงานให้ตรงต่อเวลา ทำให้พอเหมาะกับเวลาที่กำหนด
6)  ปริสัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักชุมชน คือรู้จักชุมชน หรือสังคมและรู้จักกิริยาที่ต้องประพฤติต่อชุมชนนั้น ๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น
7)  ปุคคลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือรู้จักบุคคล รู้จักเลือกบุคคล ว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดีไม่ควรคบ ผู้นี้มีอัธยาศัยเป็นอย่างนี้ มีคุณธรรมอย่างนี้เป็นต้น

ธรรมะในพระพุทธศาสนาเรื่อง สัปปุริสธรรม 7 นี้เป็นหมวดที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการพัฒนาบุคลิกภาพของครู ทั้งบุคลิกภาพภายนอกและบุคลิกภาพภายในได้เป็นอย่างดี 

กระบวนการในการพัฒนาบุคลิกภาพ

8.  กระบวนการในการพัฒนาบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคล ไม่สามารถเลียนแบบบุคลิกภาพผู้อื่นได้เหมือนทุกประการ และบุคลิกภาพสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ซึ่งจะศึกษาได้จากกระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพ ดังนี้
                            
        แผนภาพที่ 1 กระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพสู่ความสำเร็จ
        แผนภาพที่ 1 กระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพสู่ความสำเร็จ
        ที่มา :  http://www.science.kmitl.ac.th/sciblog/?p=786
กระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพ ผู้ที่ต้องการจะพัฒนาบุคลิกภาพของตนจะต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ตนเองก่อนเนื่องจากมนุษย์ทุกคนมักจะมีนิสัยเข้าข้างตนเอง และคิดว่าตนเองดีแล้วไม่มีข้อบกพร้องใดๆ จึงสมควรต้องอาศัยผู้อื่นช่วยดูและวิเคราะห์แนะนำ บุคคลทั่วไปมักมีลักษณะดังนี้
 1)  คนเรามักไมค่อยได้สำรวจตัวเอง
 2)  คนเราจะคุ้นเคยกับตนเองและไม่รู้ว่าตนเองมอะไรไม่ดีบ้าง
 3)  คนเราจะรู้สึกว่าตัวเองดีไปหมด
ดังนั้น จึงสมควรที่จะสํารวจหรือวิเคราะห์ตนเองว่าตัวเรานั้นมีจุดเด่น จุดด้อยอะไร กิริยาท่าทางของ

        ตนดีหรือบกพร่องอย่างไร โดยเขียนเป็นข้อๆ เรียงตามลําดับความสําคัญแล้วเริ่มต้นปรับปรุงแก้ไขไปทีละข้อตามลําดับ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในแต่ละข้อ เมื่อปรับปรุงแก้ไขแล้วก็แสดงออกมาใหม่ ปฏิบัติตัวตามแนวใหม่แล้วทําจนให้เกิดความเคยชินหรือเป็นนิสัย แล้วลองประเมินผลดูว่าสิ่งที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วนั้นดีหรือยัง มีปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติอย่างไร และจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคเหล่านั้นอย่างไร หากยังไม่ดีขึ้นก็จะต้องกลับเข้าสู่ขั้นวิเคราะห์ตนเองใหม่ซ้ำอีก หรือหากเป็นที่พอใจแล้ว ก็นําปัญหาถัดไปมาวิเคราะห์แก้ไขต่อไป

ลักษณะของบุคลิกภาพที่ครูควรทราบ

7.  ลักษณะของบุคลิกภาพที่ครูควรทราบ
                แนวความคิดเรื่องบุคลิกภาพนั้น นักจิตวิทยาได้พยายามศึกษาค้นคว้าและวิจัยในแง่มุมต่างๆ อย่างกว้างขวาง มีการนำเสนอลักษณะของบุคลิกภาพซึ่งอาจจำแนกได้เป็นลักษณะของบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ ลักษณะของบุคลิกภาพที่บกพร่อง ตลอดจนประเภทต่างๆของบุคลิกภาพที่เบี่ยงเบน
ลักษณะของบุคลิกภาพที่สมบูรณ์                                                                                                 นักจิตวิทยาเสนอลักษณะบุคลิกภาพที่สมบูรณ์บางลักษณะไว้ดังนี้
1.  รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น สามารถแก้ปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.  ยอมรับสภาพที่แท้จริงของตนเองและผู้อื่น สามารถสร้างความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับผู้อื่นได้
3.  เป็นผู้ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้
4.  พร้อมจะเผชิญหน้ากับประสบการณ์ใหม่ สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ตามความจริง
5.  รู้จักตนเองและเข้าใจตนเอง สามารถปรับสภาพจิตให้ปกติได้
6.  เป็นผู้ที่มีปรัชญาชีวิตที่แน่นอนพอสมควร สามารถดำเนินชีวิตโดยปราศจากความกลัว
7.  เป็นผู้มีอิสระทางใจในการคิดและการกระทำ สามารถจัดการกับชีวิตตนเองได้โดยไม่มีความคับข้องใจ
8.  คิดถึงตนเองในทางที่ดี สามารถที่จะทำสิ่งต่างๆ อย่างที่สังคมทำได้

ลักษณะของบุคลิกภาพที่บกพร่อง
               ริชชาร์ด บูทซิน(Bootzin , 1986 ; 737) อธิบายเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่บกพร่อง (Personality disorder) ว่าเป็นบุคลิกภาพที่ยุ่งเหยิงหรือวิปลาสเกี่ยวข้องกับการไม่รู้จักผ่อนปรน หรือไม่ยืดหยุ่นและเป็นลักษณะของบุคลิกภาพอันเกิดจากการทำงานของอวัยวะบางส่วนบกพร่องโดยทั่วไปบุคลิกภาพที่บกพร่องจะมีลักษณะให้เห็นดังนี้
1.             เป็นผู้ที่มีท่าทางแปลกๆ เช่น ขยิบตาถี่ๆ ใช้มือป้องปาก ชอบกัดเล็บ ฯ
2.             เป็นผู้มีปมด้อยซึ่งทำให้ถอยหนีจากสังคมหรือมักแสดงอาการข่มขวัญ หรือ ใช้คำพูดข่มผู้อื่นเพื่อปกปิดตนเอง
3.             เป็นผู้ที่มักจะขอพึ่งพาผู้อื่น ไม่กล้ารับผิดชอบขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
4.             เป็นผู้ต่อต้านสังคม มองโลกในแง่ร้าย ชอบเป็นปรปักษ์กับสังคม
5.             เป็นผู้มีอารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงได้ง่าย

ประเภทของบุคลิกภาพที่เบี่ยงเบน
                นอกจากลักษณะบุคลิกภาพที่สมบูรณ์หรือบกพร่องดังกล่าวแล้ว ยังมีลักษณะบุคลิกภาพที่ครูควรขจัดและระวังไม่ให้ศิษย์แสดงออก ได้แก่
         1)  พวกบุคลิกภาพไม่สมวัย (Inadequate Personality)เป็นพวกที่ปรับตัวยาก การแสดงออกไม่เหมาะสมกับวัย แก่แดด
        2)  พวกปลีกสังคม(Schizophrenia Personality)เป็นพวกแยกตัวออกจากสังคม ชอบสมมติตนเองตามจินตนาการ
        3)  พวกชอบชิงดีชิงเด่น(Cyclothymiac Personality)เป็นพวกชอบแข่งขัน การแสดงออกทางอารมณ์รุนแรง มีความกระตือรือร้นสูง
        4)  พวกเชื่อมั่นสูง(Paranoid Personality) เป็นผู้เชื่อมั่นความสามารถของตนเองอย่างมากไม่ยอมวางใจผู้อื่น
        5)  พวกอ่อนวุฒิภาวะ(Immature Personality)เป็นผู้ที่ควบคุมอารมณ์ และพฤติกรรมของตนเองไม่ค่อยได้ และมักใช้พฤติกรรมถดถอยไปในวัยทารก
        6)  พวกอารมณ์ไม่มั่นคง(Emotionally Unstable Personality)เป็นผู้ที่มีอารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเอาแน่เอานอนไม่ได้
        7)  พวกพิถีพิถัน (Compulsive Personality)เป็นผู้ที่มีความระมัดระวังตัวเกินไปเปลี่ยนแปลงได้ยาก ยึดมั่นกับบางสิ่งอย่างเคร่งครัด
       8)  พวกแสดงพฤติกรรมเข้มข้น(Conversion Reaction หรือ Hysteria)เป็นผู้ที่มักแสดงออกอย่างรุนแรงในทุกๆเรื่อง
        9) พวกพฤติกรรมผิดสังคม(Sociopathic Personality)มี 2 แบบ คือ
            9.2)  พวกสังคมยุ่งยิ่ง(Social Disorders)
            9.3)  พวกเบี่ยงเบนทางเพศ (Sexual Deviation)

ลักษณะของบุคลิกภาพต่างๆ ดังกล่าวนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพครูควรทำควรเข้าใจเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลิกของตนเองให้เหมาะสม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และสังคม  อีกทั้งเป็นลักษณะของบุคลิกภาพที่ครูส่งเสริมหรือช่วยขจัดแก่ศิษย์

การพัฒนาบุคลิกภาพของครู

6.  การพัฒนาบุคลิกภาพของครู
การพัฒนาบุคลิกภาพ  หมายถึง การวิเคราะห์บุคลิกภาพของแต่ละคนว่าเหมาะสมเพียงใด แล้วพยายามปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ยังขาดหรือบกพร่องให้เหมาะสม หรือเป็นไปได้ในลักษณะที่ตนปรารถนา 
การพัฒนาบุคลิกภาพของครู หมายถึง การแก้ไข ปรับปรุง และฝึกฝนบุคลิกภาพทั้งทางด้านร่างกาย บุคลิกภาพทางด้านอารมณ์ บุคลิกภาพทางด้านสังคม และบุคลิกภาพทางด้านสติปัญญาของครู ให้เหมาะสมในการประกอบวิชาชีพครู
การพัฒนาได้มีผู้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันดังนี้
 1)  การพัฒนา คือ วิธีการอย่างหนึ่งที่ทําให้มนุษย์มีการดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข (Good life) โดยจะต้องมีการจัดหาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมาปรับปรุงสภาพทางวัตถุที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตเพื่อให้มีอิสระจากการอยู่ใต้อํานาจของธรรมชาติความขาดแคลน หรือสิ่งอื่นใดที่กดดันให้ชีวิตขาดเกียติยศและชื่อเสียง
 2)  การพัฒนา คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ที่มีการนําเอาความคิดใหม่(Innovation) เข้ามาในระบบสังคม ซึ่งจะทําให้ชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ต่อหัวของบุคคลสูงขึ้นอับเนื่องมาจากใช้วิธีการผลิตที่ทันสมัย และจัดระบบของสังคมให้ดีขึ้น
 3)  การพัฒนา คือ กระบวนการที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการจัดสรรทรัพยากรของสังคม เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จะทําให้บรรลุเป้าหมายที่สังคมนั้นได้เลือกสรรแล้ว ด้วยการควบคุมอัตราการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาบุคลิกภาพ คือ การเปลี่ยนแปลงให้บุคลิกภาพดีขึ้น และดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข มีความมั่นใจในตนเอง มีพลังในการทํางาน เกิดเป็นกระบวนการที่ทําให้มีการเปลี่ยนแปลงใทางที่ดีขี้น และมีทัศนคติที่ดีขึ้นมี กระบวนการดังนี้
1)  การวิเคาะห์ตนเอง เป็นกระบวนการที่บุคคลเริ่มสำรวจบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยของตนเอง เพื่อที่จะได้รู้ตนเองนั้นมีลักษณะบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยอย่างไรบ้างและ บุคลิกภาพที่มีอยู่นั้นควรกับความต้องการของสังคมหรือไม่ เคยมีปัญหาใดในการแสดงบุคลิกภาพบ้างหรือไม่ การสำรวจตนเองจะทำได้ใน 2 ทางคือ
          1.1)  การวิเคราะห์ตนเอง เป็นการที่บุคคลพยายามค้นหาองค์ประกอบบุคลิกภาพของตนเองเพื่อได้ทราบว่าองค์ ประกอบแต่ละอย่างนั้นมีความสมบูรณ์ถูกต้อง อย่างไรบ้างเมื่อแยกวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ แล้ว ก็ควรจะประเมินสรุปบุคลิกภาพของตนเองว่าควรจะคงไว้ในส่วนใดและควรจะปรับปรุง ในส่วนใด ที่สำคัญคือผู้วิเคราะห์ตนเองจะต้องยอมรับในข้อบกพร่องเพื่อการแก้ไขต่อไป ด้วย
          1.2)  การรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น โดยปกติแล้วมนุษย์จะมีความลำเอียงเข้าข้างตนเองเสมอๆ ดังนั้นการวิเคราะห์ตนเองเพียงประการเดียว อาจจะยังไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอในการปรับปรุงบุคลิกภาพ จึงจำเป็นจะต้องประเมินตนเองโดยการอาศัยการมองของผู้อื่นว่าเขาคิดอย่างไร ต่อบุคลิกภาพของเรา เพื่อจะได้นำส่วนที่บกพร่องมา แก้ไขต่อไป
               2)  การปรับปรุงแก้ไข เมื่อบุคคลสำรวจตนเองได้ข้อมูลมากเพียงพอแล้ว บุคคลควรจะประมวลสรุปบุคลิกภาพเพื่อรู้จักตนเองใน 3 ลักษณะคือ
          2.1)  อุปนิสัยและนิสัยของตนเอง
          2.2ลักษณะส่วนรวมของตนเอง
          2.3)  บทบาทของตนเอง
 3)  การแสดงออกใหม่หรือการฝึกฝนตนเอง เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ตนเองแล้วมาตรวจพบข้อบกพร่องต่างๆ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุง โดยการที่บุคคลจะต้องมองหาลักษณะบุคลิกภาพที่จะเป็นแบบอย่างที่จะใช้ในการ ปรับปรุงต่อไปแล้วพยายามเตือนตนเอง ให้ละทิ้งบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยเดิมที่บกพร่อง แล้วพยายามปฏิบัติตามแบบอย่างของบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยใหม่ การปรับปรุงบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและจะต้องมี ความตั้งใจจริง โดยตัวของบุคคลที่จะปรับปรุงบุคลิกภาพเองจะต้องให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ด้วยการยอมรับข้อบกพร่องของตนและผลที่มีต่อตนเองและผู้อื่นเป็นประการสำคัญ ทั้งต้องรู้จักแสวงหาหนทางที่จะช่วยให้ ตนเองได้รับรู้บุคลิกภาพและลักษณะนิสัยที่สร้างสรรค์อันควรต่อการเสริมสร้าง ให้เกิดขึ้น                                                                                      .               4.การประเมินผลตนเอง เป็นการสำรวจตรวจสอบขั้นสุดท้าย หลังจากได้กระทำตามขั้นตอนที่ได้วางแผนไว้ หรือตั้งใจไว้ การประเมินผลทางบุคลิกภาพ ควรผู้อื่นประเมินด้วย จะทำให้มั่นใจมากขึ้น
บุคลิกภาพที่ดีของครูจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งอย่างหนึ่งที่จะสร้างความประทับใจ ความศรัทธาและความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแก่ผู้พบเห็น นักจิตวิทยาการศึกษาให้ความสำคัญเรื่องบุคลิกภาพอย่างมาก เพราะเชื่อว่าบุคลิกภาพเป็นการจัดระบบพฤติกรรมของบุคคลที่ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคลเท่านั้น บุคลิกภาพยังเป็นตัวตนของคนแต่ละคนอีกด้วย

ความสำคัญของบุคลิกภาพของครู

5.  ความสำคัญของบุคลิกภาพของครู
บุคลิกภาพมีความสำคัญต่อครูดังนี้ (ธีรศักดิ์ อัครบวร, 2544, น. 100 – 139)
1)  ช่วยให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและบุคคลอื่น ๆ ได้ดี บุคลิกภาพเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่บุคคลแสดงออกให้ปรากฏแก่ผู้พบเห็น ครูผู้มีบุคลิกภาพดีย่อมได้เปรียบในการสมาคมกับบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะศิษย์และผู้ปกครอง
2)  เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ศิษย์และบุคคลทั่วไปได้ บุคลิกภาพที่ดีของบุคคลบางคน เช่น ความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรม ลักษณะการเดิน และลีลาการพูด เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถนำไปเป็นแบบอย่างให้ศิษย์นำไปเป็นแบบเพื่อฝึกฝนได้
3)  ช่วยให้มีความมั่นใจในตนเอง บุคคลที่มีบุคลิกภาพดี และบุคลิกภาพเหมาะสมกับหน้าที่รับผิดชอบแล้ว จะทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น ครูผู้มีบุคลิกภาพดี ย่อมมั่นใจในการไปปรากฏตัวในที่ต่าง ๆ ทั้งในห้องเรียนและในสังคมทั่วไป สังคมให้การยอมรับผู้มีบุคลิกภาพในการพูดจาดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ
4)  ช่วยให้เป็นบุคคลที่มีสุขภาพจิตดี ครูผู้มีบุคลิกภาพดีทั้งทางด้านร่างกายอารมณ์ สังคม และสิตปัญญาย่อมเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี เพราะสามารถติดต่อและทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่นได้ดี

5)  ช่วยทำให้ครูประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน ครูที่มีบุคลิกภาพดีย่อมเป็นที่ไว้วางใจ และมั่นใจการประกอบกิจการต่าง ๆ ผู้ใต้บังคับบัญชาก็อยากร่วมงานด้วย ผู้บังคับบัญชาก็มั่นใจที่จะมอบหมายงานให้รับผิดชอบ และเพื่อนร่วมงานมีความสบายใจในการปฏิบัติงานร่วมกัน 

ลักษณะของบุคลิกภาพ

4.  ลักษณะของบุคลิกภาพ
                การจำแนกประเภทหรือลักษณะของบุคลิกภาพย่อมแตกต่างกันออกไปตามความคิด ความเห็นของบุคคล เช่น บางคนจำแนกบุคลิกภาพออกเป็นทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม หรือบางคนจำแนกออกเป็น บุคลิกภาพทางกาย สติปัญญา ความสามารถ อารมณ์ ความสนใจ อุปนิสัย และการปรับตัว เป็นต้น (สงวน  สุทธิเลิศอรุณ, 2553, น. 12).
          การที่ครูมีบุคลิกภาพดี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีความสวยงามหรือหล่อเท่านั้นหากแต่จะต้องมีองค์ประกอบอื่นๆซึ่งครูทุกคนสามารถฝึกฝนให้เป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดีได้ และครูที่มีบุคลิกภาพดีย่อมประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วส่วนหนึ่ง ดังนั้นบุคลิกภาพจึงมีความสำคัญต่อครูเป็นอย่างยิ่งซึ่งพอจะจำแนกได้เป็น 4 ด้าน คือ
                4.1  บุคลิกภาพทางกาย
                บุคลิกภาพทางกายเป็นบุคลิกภาพที่สังเกตได้และเป็นสิ่งที่ปรากฏต่อบุคคลทั่วไป เป็นความประทับใจครั้งแรกที่เกิดกับผู้พบเห็น บุคลิกภาพทางกายทั่วไป มีดังนี้
                1)  รูปร่าง หน้าตา และผิวพรรณบุคลิกภาพส่วนนี้เป็นมาโดยกำเนิด อาจแก้ไขได้ยาก แต่ก็สามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ตามสมควร ผู้เป็นครูไม่ว่ารูปร่างจะเป็นอย่างไรที่สำคัญต้องมีความแข็งแรง สมบูรณ์ปราศจากโรค ไม่เป็นทาสสิ่งเสพติด ซึ่งจะทำให้ร่างกายทรุดโทรม
                2)  การแต่งกายบุคลิกภาพในส่วนด้านการแต่งกายของครูนั้นเป็นสิ่งแรกที่นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนมองเห็นจึงมีผลต่อการสร้างเจตคติที่ดีต่อตัวครูการแต่งกายที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพของครูจึงควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
                       2.1)  แต่งกายให้เหมาะสมกับสถานที่และความนิยมของสังคมในโอกาสต่างๆ เช่น ศาสน-สถาน สถานที่ราชการและงานกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
                       2.2)  แต่งกายให้เหมาะสมกับฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ คือ ต้องแต่งกายให้เหมาะสมกับสถานภาพ และต้องไม่เกินความจำเป็น
                       2.3)  ความสะอาดของเครื่องแต่งกาย ทั้งเสื้อผ้าและรองเท้าไม่จำเป็นต้องมีราคาสูงนักแต่จะต้องมีความสะอาดอยู่เสมอ
                       2.4)  สวมเสื้อผ้าให้เหมาะกับรูปทรงและเรียบร้อยอยู่เสมอ
                       2.5)  การใช้เครื่องประดับที่มีค่า ครูไม่ควรใช้ของมีค่าแพงเกินความจำเป็น
                3)  กิริยามารยาท กริยามารยาทที่ดีก็คือการวางตัวให้ถูกกาลเทศะ เหมาะกับแต่ละบุคคลที่ปฏิสันถารด้วย โดยมีความสุภาพเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด
                4.2  บุคลิกภาพทางสังคม
                   บุคลิกภาพทางสังคมเป็นบุคลิกภาพที่แสดงออกให้ผู้อื่นได้พบเห็น เช่นเดียวกับบุคลิกภาพทางร่างกาย เพียงแต่บุคลิกภาพทางสังคมนั้นอาจมีผลจากบุคลิกภาพภายในของบุคคลนั้นๆ ซึ่งเป็นแรงขับที่สำคัญ โดยเฉพาะคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยม. ได้แก่ ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ เป็นต้น
                4.3  บุคลิกภาพทางอารมณ์
                   บุคลิกภาพทางอารมณ์  เป็นบุคลิกภาพภายในที่อาจแสดงออกมาให้เห็นหรือไม่ก็ได้ บุคลิกภาพทางอารมณ์ของครู ได้แก่
                   1)  อารมณ์ขัน  จากผลการวิจัยทั้งของนักศึกษาไทยแบะต่างประเทศตรงกันว่า  อารมณ์ขันเป็นบุคลิกภาพด้านหนึ่งของครูที่นักเรียนเห็นว่าสำคัญมาก  การมีอารมณ์ขันช่วยให้การสอนสนุกสนามเป็นศิลปะของการสอนประการหนึ่ง  นอกจากนี้อารมณ์ขันยังช่วยให้ครูใช้สร้างบรรยากาศและสร้างความสนิทสนมกับผู้อื่นได้ง่าย
                   2)  อารมณ์ดี  เป็นบุคลิกภาพอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ครูเป็นคนน่ารัก (ปิโย) นักเรียนมีความกล้าและพอใจที่จะเข้ามาพบปะเพื่อปรึกษาปัญหาต่างๆ ของตน
                   3)  อารมณ์เย็น  เป็นบุคลิกที่ช่วยให้ครูเป็นผู้น่าคบค้าสมาคมด้วย ช่วยให้ครูมีความอดทนในการสั่งสอนศิษย์  ไม่วู่วามในการแก้ปัญหา  การดุด่าว่ากล่าวศิษย์จะเป็นไปโดยมีเหตุผลสมควร ช่วยให้ครูพูดจาไพเราะและสุภาพอยู่เสมอ
                   4)  ความมั่งคงทางอารมณ์ (Emotional Intelligent) ครูที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีจะได้เปรียบในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติหน้าที่การงาน ความมั่งคงทางอารมณ์เป็นบุคลิกภาพที่สำคัญที่สุดของทุกอาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นครู
             
              4.4  บุคลิกภาพทางสติปัญญา
                 บุคลิกภาพทางด้านสติปัญญา  เป็นเรื่องของเชาวน์ปัญญาแต่ละคนเกิดจากพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ  สติปัญญาจะดีเพียงใด  เฉลียวฉลาดมากน้อยแค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับมันสมองเป็นสำคัญ  อย่างไรก็ตามการศึกษาแบะสิ่งแวดล้อมก็สามารถช่วยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของสติปัญญาได้ไม่น้อยเช่นกัน
                 บุคลิกภาพทางด้านสติปัญญาของครูนั้นขึ้นอยู่กับครูแต่ละคนว่าจะเลือกกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างไร  หากครูรู้จักค้าคว้าวิจัย (Action Research) หมั่นแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้ได้เปรียบในการแก้ปัญหาต่างๆ การแสวงหาความรู้คือ การแสวงหาข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ นั่งเอง ครูต้องรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อสติปัญญา เช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬา ฟังเพลง ท่องเที่ยวตามพิพิธภัณฑ์หรืออุทยานแห่งชาติ ดูนิทรรศการต่างๆ เป็นต้น
                 บุคลิกภาพมีความสำคัญทั้งในด้านส่วนตัวและด้านอาชีพสำหรับผู้ที่ประกอบวิชาชีพครูนั้น  ความมีความบุคลิกภาพที่ดีย่อมเป็นที่ชื่นชอบของลูกศิษย์  ของผู้ปกครอง  และส่งผลให้ครูสามารถสร้างสัมพันธภาพกับสังคมได้อย่างง่ายดาย  เพราะเป็นคนที่น่าเชื่อถือแก่คนที่พบเห็น  ซึ่งนับเป็นบุคลิกภาพภายนอกที่ดี  และในขณะเดียวกันอาชีพครูจะต้องเป็น  "แม่แบบ" ให้แก่สังคม ดังนั้นผู้เป็นครูจะต้องมีบุคลิกภาพภายในที่งดงามด้วยเช่นกัน
               
        อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณากันอย่างกว้างๆ แล้ว บุคลิกภาพของคนเราสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้
                1)  บุคลิกภาพภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถสังเกตเห็นหรือสัมผัสได้ประสาททั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย บุคลิกภาพภายนอกนี้สามารถแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ง่าย โดยใช้เวลาฝึกและแก้ไขปรับปรุงไม่นานนัก และสามารถวัดผลได้ทันที บุคลิกภาพภายนอกของคนเราที่สำคัญก็คือ บุคลิกภาพทางกายและวาจา
                2)  บุคลิกภาพภายใน เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น สัมผัสได้ยาก ต้องทำงานร่วมกันนานๆจึงจะสังเกตเห็น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร และบุคลิกภาพภายในบางอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ บุคลิกภาพภายในส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา อารมณ์ และจิตใจ
ตารางแสดงตัวอย่างลักษณะบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพภายนอก
บุคลิกภาพภายใน
 - รูปร่างหน้าตา
 - กริยามารยาท
 - ลักษณะการยืน เดิน  นั่ง วิ่ง
 - สีหน้าแววตา
 - การปรากฏตัวในสังคม
 - การแต่งกาย
 - น้ำเสียงที่พูด
 - ลักษณะการพูด
 - การใช้ถ้อยคำ
 - ความมีน้ำใจ

- ความคิดริเริ่ม
 -ความรอบรู้
 - ปฏิภาณไหวพริบ
 - ความจำ
 - ค่านิยม
 - ความเชื่อมั่นในตนเอง
 - ความมั่นคงทางอารมณ์
 - อารมณ์ขัน
 - ความกระตือรือร้น
 - ความซื่อสัตย์จริงใจ
 - ความรับผิดชอบ
 - ความเสียสละ


ตารางที่ 1 ลักษณะบุคลิกภาพ

อ้างอิง : ปรีชา เศรษฐีธร, 2533, น. 344

ความหมายของบุคลิกภาพ

3. ความหมายของบุคลิกภาพ
                คำว่า บุคลิกภาพ ตรงกับ ภาษาอังกฤษว่า Personality มาจากภาษากรีกว่า Persona แปลว่า หน้ากากที่ตัวละครได้สวมเวลาแสดงละคร เพื่อที่ให้เห็นความแตกต่างของตัวละครทำให้ผู้ชมจำตัวละครได้ ตามพจนานุกรม ศัพท์สังคมวิทยาอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายความหมายบุคลิกภาพไว้ว่า เป็นผลรวมทางความคิดท่าที และนิสัย ซึ่งสร้างสมจากมูลฐานองค์ประกอบทางจิต และทางกายภาพของบุคคลอันถ่ายทอดมาทางชีววิทยาส่วนหนึ่งและจากแบบอย่างวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมาทางสังคมอีกส่วนหนึ่ง และรวมถึงการปรับเหตุจูงใจ ความสามารถ และความมุ่งประสงค์ของบุคคลนั้นให้เข้ากับความต้องการ และวิสัยแห่งสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคมและที่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคม ( วัชรี  ตระกูลงาม,  2542, น. 195 )
                ยนต์  ชุมจิต (2544, น. 257-267) ให้ความหมายว่า บุคลิกภาพ หมายถึงลักษณะส่วนรวมของบุคคลทั้งหมด ที่แสดงออกปรากฏ ให้คนอื่นได้รู้ได้เห็น ซึ่งแตกต่างกันเพราะภาวะสิ่งแวดล้อมที่สร้างตัวบุคคลนั้นแตกต่างกันประการหนึ่ง และพันธุกรรม ที่แต่ละบุคคล ได้มาก็แตกต่างกัน ไปอีกประการหนึ่ง
            ออลพอร์ต (Allport อ้างในยนต์ ชุมจิต, 2544, น. 221) บุคลิกภาพ หมายถึง การจัดและรวบรวมเกี่ยวกับระบบทางร่างกายและจิตใจภายในตัวของแต่ละบุคคล แต่จะมีการเปลี่ยนแปรอยู่เสมอ ยังส่งผลให้แต่ละคนมีการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร

                จากคำอธิบายดังกล่าวข้างต้น ทำให้ พอสรุปความได้ว่า  บุคลิกภาพคือ ลักษณะทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งภายนอกและภายใน  ซึ่งรวมอยู่ในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทำให้บุคคลนั้นมีความแตกต่างไปจากบุคคลอื่น คุณลักษณะภายนอก เช่น รูปร่างหน้าตา ลักษณะการพูด กิริยา ท่าทาง ตลอดจนถึงการแต่งกาย เป็นต้น  ส่วนบุคลิกภาพภายใน เช่น ค่านิยม ความสนใจ ความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ความมั่นคงในอารมณ์ และอารมณ์ขัน



จรรยาบรรณวิชาชีพครู 9 ข้อ

2.  จรรยาบรรณวิชาชีพครู 9 ข้อ
1.  ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริมให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า 
2.  ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัย ที่ถูกต้องดีงาม ให้เกิดแก่ศิษย์ อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ 
3.  ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ 
4.  ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคมของศิษย์ 
5.  ครูต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ใช้ให้ศิษย์กระทำการใด ๆ อันเป็นการหาผลประโยชน์ ให้แก่ตนโดยมิชอบ 
6.  ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งทางด้านวิชาชีพด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทาง วิทยาการ เศรษฐกิจสังคมและการเมืองอยู่เสมอ 
7.  ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครูและเป็นสมาชิกที่ดีต่อองค์กรวิชาชีพครู 
8.  ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ 
9.  ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทย 

ความหมายของวิชาชีพครู

1.  ความหมายของวิชาชีพครู
ความหมายของคำว่า ครู
                คำว่า ครูมีความหมายลึกซึ้ง มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า ครุ-คุรุหรือจากภาษาสันสกฤตว่า คุรุในความหมายที่เป็นคำนาม แปลว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ และในความหมายที่เป็นคำวิเศษณ์ในภาษาบาลีแปลว่า หนัก สูง ส่วนในภาษาสันสกฤตแปลว่า ใหญ่ หนัก (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542, . 255)
                “ครูหมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆในสถานศึกษาปฐมวัยขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐและเอกชน (ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 122, 5 กันยายน 2548)
                ส่วนในหนังสือ Dictionary of Education ให้ความหมายของคำว่าครู (Teacher)ไว้ดังนี้ (ยนต์  ชุ่มจิต,  2531, น. 8)
                ครู คือ บุคลิกที่ทางราชการจ้างไว้เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำหรืออำนวยการในการจัดประสบการณ์การเรียนสำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาในสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน (a person employ in an official capacity for the purpose guiding and directing the learning experiences of pupils or students in an educational institution, whether public or private )
                ครู คือ บุคคลที่มีประสบการณ์หรือมีการศึกษามากหรือดีเป็นพิเศษ หรือมีทั้งประสบการณ์และการศึกษาดีเป็นพิเศษในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งที่สามารถช่วยทำให้บุคลอื่นๆ เกิดความเจริญงอกงามและพัฒนาก้าวหน้าได้(a person who because of rich of unusual experience or education or both in a given field is able to contribute to the growth and development of other persons who come in contact with him)

                คำว่าครูโดยทั่วไป  หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์เป็นผู้ที่มีความหนักแน่นควรแก่การเคารพบูชาของศิษย์ แต่ปัจจุบันครู หมายถึง ผู้ประกอบวิชาชีพอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่สอนคน และมักจะใช้กับผู้สอนในระดับที่ต่ำกว่าวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย หรืออุดมศึกษา 


Comments system

Disqus Shortname