วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของครูไทย

9.  บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของครูไทย
                บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของครูไทยนั้นอาจใช้ลักษณะของสัตบุรุษ 7 ประการ เป็นต้นแบบ (Model)ก็ได้ กล่าวคือ ครูผู้มีลักษณะดี 7 ประการ ย่อมเป็นครูที่มีบุคลิกภาพดีนั่นเอง สำหรับการพัฒนาบุคลิกภาพของครูนั้นมีจุดประสงค์ที่สำคัญคือ ให้ครูมีบุคลิกภาพที่ดีเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์และชุมชน ลักษณะสัตบุรุษ ได้แก่
1)  ธัมมัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ ความรู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนี้ เช่น รู้ว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือพบผลแล้วรู้ชัดว่า ผลนั้นเกิดมาจากเหตุ ผลดีย่อมมาจากเหตุดี ผลชั่วย่อมมาจากเหตุชั่ว อย่างนี้เรียกว่า ธัมมัญญุตา
2)  อัตถัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักผล คือ ความรู้ชัดว่า สิ่งนี้เป็นผลของสิ่งนี้ เช่น รู้ว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้ หรือพบเหตุแล้วรู้จักคาดผลได้ว่า เหตุนั้นจะต้องได้ผลอย่างนี้แน่นนอน เหตุดีย่อมได้ผลดี เหตุชั่วย่อมได้ผลชั่ว อย่างนี้เรียกว่าอัตถัญญุตา
3)  อัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักตน คือ ความรู้ชัดว่า ตนเองมีฐานะเป็นอย่างไร แล้วประพฤติตนให้เหมาะสมกับภาวะและฐานะของตน
4)  มัตตัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี รู้จักประมาณในการแสวงหาและใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงชีพ
5)  กาลัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักกาล คือรู้จักเวลาอันเหมาะสมแก่การประกอบกิจและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการประกอบกิจ การตรงต่อเวลา มาปฏิบัติงานให้ตรงต่อเวลา ทำให้พอเหมาะกับเวลาที่กำหนด
6)  ปริสัญญุตา  ความเป็นผู้รู้จักชุมชน คือรู้จักชุมชน หรือสังคมและรู้จักกิริยาที่ต้องประพฤติต่อชุมชนนั้น ๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น
7)  ปุคคลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือรู้จักบุคคล รู้จักเลือกบุคคล ว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดีไม่ควรคบ ผู้นี้มีอัธยาศัยเป็นอย่างนี้ มีคุณธรรมอย่างนี้เป็นต้น

ธรรมะในพระพุทธศาสนาเรื่อง สัปปุริสธรรม 7 นี้เป็นหมวดที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักในการพัฒนาบุคลิกภาพของครู ทั้งบุคลิกภาพภายนอกและบุคลิกภาพภายในได้เป็นอย่างดี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Comments system

Disqus Shortname